สื่อรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโรค โรคพิษสุนัขบ้า 2 คน ที่ จ.สุรินทร์ และ จ.สงขลา ซึ่งถูกลูกสุนัขกัดเป็นแผลเล็กน้อย แต่ไม่ได้พบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.สงขลา ได้ให้คำแนะนำหากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ กัดหรือข่วน ให้ทำความสะอาดแผลด้วยสบู่อย่างน้อย 15 นาที จากนั้นใส่เบต้าดีน แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ว่าสัตว์นั้นจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้วหรือไม่ก็ตาม
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลสัตว์เศรษฐกิจสัตวแพทย์ ได้ออกมารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 26 ก.พ. 2561 โดยอ้างอิงจาก สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อหวังให้ประชาชนตื่นตัวและเตรียมป้องกันตัวเองจากเชื้อดังกล่าว โดยพบว่าพื้นที่ที่พบเชื้อพิษสุนัขบ้ามีมากถึง 22 จังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณเตือนถึงความร้ายแรงของโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies) ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว ฯลฯ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทำให้มีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง และถ้าเป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย ในปัจจุบันยังไม่มียาอะไรที่จะรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
คนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเนื่องจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัจบ้าจากสัตว์ที่เป็นโรค คนสามารถติดโรคจากสัตว์เหล่านี้ได้ 2 ทางคือ
1. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด
2. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย จะไม่ติดโรคจากสัตว์เหล่านั้น นอกเสียจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผลหรือรอยถลอกหรือรอยขีดข่วน โดยคนนั้นไม่ได้สังเกต ในกรณีนี้จะทำให้สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตา
ข้อควรปฏิบัติภายหลังจากถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์ที่สงสัยว่าบ้ากัด
1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยน้ำยาพิวิดีน (เบตาดีน) หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ ไอโอดีน แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
2. ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน ขณะเดียวกันให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนการรักษาทางสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณไม่สามารถป้องกันโรคได้ ไม่ควรรอดูอาการสุนัข เพราะอาจสายเกินไปที่จะฉีดวัคซีน
3. ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีน
4. ผู้ที่ต้องมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคือ มีบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำเขียวหรือมีเลือดไหล แผลถลอกหรือแผลลึก รวมทั้งผู้ที่ถูกสุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก และผิวหนังที่มีแผลถลอก ส่วนในกรณีที่ถูกเลียผิวหนังที่ไม่มีแผลหรือเพียงแต่อุ้มสุนัขไม่สามารถจะติดโรคได้