จะเริ่มต้นสื่อสารในที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ในการทำงานสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารที่เข้าใจตรงกันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง เพื่อให้ทุกคนมีข้อมูลชุดเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนรับรู้เป้าหมายหลักของบริษัท สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในบริษัท หรือการติดต่อประสานงานระหว่างแผนก หรือการติดต่อกับบุคคลภายนอก เช่น ลูกค้า หรือ คู่ค้า หากตัวบุคคลไม่สามารถถ่ายทอดสารที่ตัวเองต้องการจะสื่อออกไปได้จะทำให้การทำงานติดขัดหรือไม่ได้ผลลัพธ์ที่ควรจะเป็น วิธีการสื่อสารในทำงานให้เข้าใจควรเริ่มต้นดังต่อไปนี้

  1. ฟังและทำความเข้าใจสารของตัวเองอย่างมีสมาธิ เมื่อเรารับคำสั่งจากเจ้านายหรือเมื่อได้รับการเทรนจากรุ่นพี่ การฟังอย่างมีสมาธิจะทำให้รับสารได้มากขึ้น และจดจำได้มากขึ้น
  2. ทำความเข้าใจสารที่ตัวเองต้องการสื่อก่อน ตรวจสอบตัวเองในทุกสารที่ตัวเองต้องการส่งออกไป หรือตรวจสอบตัวเองอีกครั้งว่าตัวเองเข้าใจเรื่องราว เนื้องานทั้งหมดที่รับมาแล้วหรือไม่ โดยการตั้งคำถามตัวเองง่าย ๆ ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ทำไม เกิดปัญหาขึ้นไหม ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร เมื่อเราสามารถตอบคำถามเหล่ากับตัวเองได้แล้ว เราจะสามารถสื่อสารได้เอง การสื่อสารด้วยประโยคที่ไม่มีประธาน กริยา กรรม ครบถ้วนทำให้เกิดความสับสนได้
  3. สอบถามเพิ่มเติมทันทีหากยังไม่เข้าใจสารที่รับมา หลายครั้งที่เรารับคำสั่ง หรือการเทรนมาแล้วเราไม่ได้เข้าใจอย่างท่องแท้ หากเป็นกรณีนี้ควรกลับไปทบทวนตัวสารหรือสอบถามเพิ่มเติม เพราะถ้าไม่เข้าใจสารที่ตัวเองต้องการจะสื่อ ย่อมไม่สามารถสื่อสารออกไปได้
  4. ถามตัวเองก่อนว่าผลลัพธ์หรือจุดประสงค์ที่ต้องการได้จากการสื่อสารครั้งนี้คืออะไร การที่เราไม่รู้จุดประสงค์ของเราในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะทำให้เรางงตัวเอง จะทำให้ความสับสนเกิดขึ้นแม้กับตัวเอง และทำให้ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร พูดอย่างไรต่อไป การถามตัวเองก่อนว่าจุดประสงค์ของตัวเองคืออะไร จะสามารถทำให้สื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เรียบเรียงเนื้อหาที่จะใช้ในการสื่อสารได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เลือกวิธีการได้ดีขึ้นด้วย
  5. เลือกวิธีการสื่อสารให้เหมาะสม ในการสื่อสารเพื่อให้งานสามารถดำเนินต่อไปได้สามารถทำได้หลายช่องทาง หากเป็นการถามงานอาจจะเดินไปถามที่โต๊ะหรือใช้แอพพลิเคชั่นในการช่วยสื่อสาร แต่หากเป็นการประกาศ นัดประชุม หรือติดต่อประสานงานกับแผนกอื่น อาจจะใช้อีเมล์ในการสื่อสาร เพื่อไม่ให้การสื่อสารคลาดเคลื่อนและแจ้งข้อมูลได้ทีละหลายคน
  6. เข้าหาให้ถูกจังหวะ หากการสื่อสารที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือการเดินไปที่รุ่นพี่แผนกอื่นหรือห้องอื่น ตอนที่เข้าไปหาเพื่อเริ่มต้นการสื่อสาร ควรสังเกตก่อนว่าเขาทำอะไรอยู่ ถ้าหากว่าเขากำลังประชุมทางไกลผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือกำลังปรึกษางานอยู่กับคนอื่นอยู่ เราควรรอก่อนหรือกลับออกมาแล้วไปหาใหม่ภายหลัง การแทรกตัวเข้าไปในบทสนทนาของคนอื่นหรือการพูดแทรกบทสนทนาของคนอื่น อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

เมื่อการสื่อสารในองค์กรมีประสิทธิภาพเสมอจะทำให้ทุกส่วนงานดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ทำให้ย่นระยะเวลาในการทำงานได้มากขึ้นด้วย เพราะหากสื่อสารไม่ตรงกัน ในบางกรณีอาจจะต้องทำจัดประชุมขึ้นใหม่หลายรอบ เป็นการเปลืองทรัพยากรและเวลาของบุคลากรในองค์กรได้

จะรับมือกับความขัดแย้งในที่ทำงานได้อย่างไร

ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีคนตั้งแต่  1 คนขึ้นไป ทำไมถึงเริ่มจาก  1 คน บางคนมีความขัดแย้งในตัวเองและรับมือไม่ได้ด้วยซ้ำ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติมาก ไปที่ไหนก็เจอ นอนอยู่บ้านคนเดียวก็เจอ แต่เมื่อเกิดขึ้นในที่ทำงาน ในองค์กรที่มีหลายคน หลายทีมที่ทำงานร่วมกันอยู่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกลายเป็นความรุนแรงทำให้ตัวบุคคลเกิดความท้อใจและสับสน แต่หากปัญหาเกิดขึ้นแล้ว วิธีการรับมือย่อมมีแน่นอนดังเช่นประโยคที่กล่าวกันอย่างหนาหูว่า ทุกปัญหามีทางออก ถ้าหาทางออกไม่เจอ บางครั้งก็ต้องออกทางเข้า โดยตัวบุคคลที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งสามารถรับมือได้ ดังนี้

  1. ตั้งสติ หลายครั้งความขัดแย้งในที่ทำงานเกิดขึ้นเพราะความคิดเห็นและมุมมองที่มองเรื่องต่าง ๆ ไม่ตรงกัน เราต้องตั้งสติก่อน ว่าเราอยู่ส่วนไหน องค์กรในที่ทำงานเหมือนรูปภาพจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่ที่ตัวเราเป็นแค่จิ๊กซอว์ตัวหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้รูปภาพสมบูรณ์และทุกอย่างสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น ถามตัวเองว่าเรามีความคิด ความรู้สึกต่อสึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร แล้วจัดการกับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ก่อน
  2. งดดราม่า การดราม่าไม่เคยทำให้อะไรดีขึ้น การดราม่าทำได้อย่างเดียวคือได้เป็นที่สนใจชั่วครู่ แบบแค่แว๊บเดียว ทุกสายตาจะจับจ้องแหล่งกำเนิดดราม่าด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามและก็หันไปทำอย่างอื่นต่อ                     การดราม่าไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหา เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางมนุษย์ที่มีความสามารถในการสื่อสารทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ย่อมใช้การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกว่าการดราม่าในการสื่อสารได้ หากว่าอดไม่ได้ที่จะดราม่า สามารถโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิตเบอร์ 1323 หรือโทรนัดนักจิตบำบัดตามคลินิคต่าง ๆ เพราะความดราม่าไม่ได้เกิดที่ตัวปัญหาแต่เกิดที่ตัวบุคคล
  3. โฟกัสที่บทบาทของตัวเอง เรามีหน้าที่ในการทำอะไร ไม่ว่าเรื่องราวจะดำเนินไปยังไง เราเองก็มีงานที่ต้องส่ง มีหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องจัดการ แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้น แต่เราต้องไม่ลืมบทบาทหน้าที่ของตัวเอง
  4. เป้าหมายในการทำงานร่วมกันคืออะไร หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในทีม เราต้องมีทบทวนเป้าหมายที่เรามีร่วมกันในตอนแรกที่เริ่มโปรเจคนี้ขึ้น ทุกคนต่างต้องการให้งานสำเร็จ หากโปรเจคนี้สำเร็จ เราย่อมได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน มีผลงานร่วมกัน และสามารถสร้างรายได้ให้องค์กรและตัวเองได้ร่วมกัน
  5. หยุดโจมตีไปที่ตัวบุคคล ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องงานและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน หลายครั้งที่ตัวบุคคลไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้และต้องการทำร้ายเพื่อนร่วมทีมเพียงเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน อันนี้ต้องกลับไปทบทวนข้อ 3 ว่า การโจมตีไปที่ตัวบุคคลสามารถทำให้ทีมของเราทั้งทีมเข้าใกล้เป้าหมายในการทำงานที่มีร่วมกันหรือไม่
  6. ร่วมกันมองไปที่ทางออก หากมองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เดี๋ยวเราก็จะผ่านมันไปได้ด้วยกัน และเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขร่วมกันได้ ทุกคนก็จะสามารถหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้ร่วมกันได้ ถ้ามองไปที่ทางออก ทางออกก็จะปรากฏขึ้นและชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับทุกคน

เมื่อความขัดแย้งได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะหาทางออกร่วมกันได้ หาทางออกร่วมกันไม่ได้ หรืออยู่ในระยะเวลาของการหาทางออกร่วมกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนในองค์กรคือความเป็นมืออาชีพที่จะไม่ยอมให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากระทบต่อเนื้องาน และหากไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ควรขอรับคำปรึกษาจากหัวหน้า หรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่าในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา

แบบเรียน 3 ร. พร้อมรับมือ..คนไม่เป็น กับ คนไม่ทำ…

เชื่อได้ว่าในทุก ๆ องค์กร จะต้องประกอบไปด้วยคนหลากหลายประเภท มีทั้งคนเก่ง คนขยัน คนขี้เกียจ

คนขี้นินทา หรือแม้กระทั่งคนประจบประแจง เพราะต่างคนก็ต่างที่มา ต่างคนก็ต่างความคิด ขึ้นอยู่กับว่า ใคร

เลือกที่จะแสดงออกให้คนอื่นเห็นตัวตนในรูปแบบไหน บางคนก็เลือกที่จะแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

บางคนก็เลือกที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกมา ทำให้ในองค์กร มักจะเกิด..คนทำงาน.. 2 ประเภทหลัก คือ

…คนทำงานไม่เป็น กับ คนไม่ทำงาน…

คนทำงานไม่เป็น คือ คนที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อนเลย หรือเป็นคนทำงานอยู่แล้ว แต่ไม่มีความรู้ ความสามารถ หรือความถนัด ในการทำงานด้านอื่น ที่ตนยังไม่เคยทำ คนเหล่านี้มักจะมีความสามารถในการพัฒนา

ตัวเองให้กลายเป็นคนทำงานเป็น และทำงานเก่งได้ในอนาคต

คนไม่ทำงาน คือ คนที่อาจจะทำงานเป็นอยู่แล้ว แต่ไม่อยากทำ หรือคนที่ทำงานไม่เป็น และไม่มีความพยายามที่จะทำ คนเหล่านี้ต่อให้ได้รับการฝึกฝนมากแค่ไหน เขาก็จะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ นอกเสียแต่ว่า เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

และหากวันหนึ่งเกิดมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับคนเหล่านี้แล้ว คงต้องอาศัยวิธีการรับมือแบบ 3 ร…

1. รักกันจริงต้องสอนกันได้

จริงอยู่ว่าไม่มีใครเกิดมาเก่ง หรือทำอะไรเป็นได้หมดทุกอย่าง แต่ทุกคนคงเคยได้ยินสุภาษิตไทยที่ว่า

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น” หากคนที่ทำงานไม่เป็น แต่มีความพยายามในการเรียนรู้ มีความพยายามในการฝึกฝน งานนั้นก็คงไม่ยากเกินความสามารถ คนที่ทำเป็นแล้ว ก็จะต้องปรับเปลี่ยนสถานะตัวเองมาเป็นครู

คอยสอน คอยบอก คอยแนะนำ เพื่อให้เขาสามารถทำงานนั้นได้ด้วยตนเอง และสำหรับคนไม่ทำ ก็ต้องลองเปิดใจ ที่จะเรียนรู้ เพราะหากไม่พร้อมเปิด ก็จะไม่สามารถรับอะไรได้เลย เพราะการเปิดใจ คือ จุดเริ่มต้นที่ยากที่สุด

2. รับรู้ในการกระทำ

ตราบใดที่องค์กรยังมีคนประเภทเหล่านี้ หัวหน้า จึงกลายเป็นบุคคลอันมีหน้าที่รับรู้พฤติกรรมการทำงานของลูกน้องมากที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว การทำงานคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

คนทำงานไม่เป็น ก็จะยังคงทำไม่เป็นต่อไป งานที่ได้รับมอบหมายก็เกิดความล่าช้า เกิดความผิดพลาด

คนไม่ทำงาน ก็จะโยนงานให้คนที่ทำเป็นรับผิดชอบ คนทำเป็นก็ต้องทนทำอยู่ทุกครั้ง ค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับเพิ่ม แต่ความรับผิดชอบกลับเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดอาการบั่นทอนจิตใจและนำไปสู่การลาออกในที่สุด

เพราะฉะนั้น ผู้เป็นหัวหน้า คือ กุญแจหลักในการปลดล็อคพฤติกรรมดังกล่าว แต่หากหัวหน้าปิดหูปิดตา มองพฤติกรรมลูกน้องไม่ออก ผู้เป็นลูกน้องจึงต้องมีหน้าที่ในการปลดล็อคพฤติกรรมให้กับหัวหน้าแทน

3. ร้ายกลายเป็นดี

การรับมือวิธีสุดท้าย ถ้าในเมื่อเขาไม่ยอมเปิดใจรับในสิ่งที่ตั้งใจจะสอน แถมหัวหน้าก็ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้อีก ทางออกสุดท้ายก็คงต้องบอกว่าให้ “ทำใจ ยอมรับ” หากอยู่ในสถานะของคนที่ทำงานเป็นแล้ว เมื่อใดที่จะต้องทำงานของคนอื่นเพิ่ม ขอให้คิดไว้เสมอว่า การทำงานในครั้งนั้น คือ การพัฒนาศักยภาพของตัวเอง จงถือโอกาสนี้เป็นการฝึกปรือฝีมือไปในตัว พยายามมองเรื่องแย่ ๆ ในครั้งนี้ ให้กลายเป็นเรื่องดี ๆ เรื่องหนึ่งในชีวิต และการทำงานจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น

เชื่อได้ว่าในทุกองค์กร จะต้องมีคนทั้ง 2 ประเภทข้างต้นอยู่ทุกที่ อยู่ที่ว่าจะต้องรับมือหรือหาทางออกเมื่อเผชิญกับคนประเภทนี้อย่างไร หากสามารถยอมรับหรือหาทางแก้ไขได้ จะทำให้สังคมการทำงานกลายเป็นสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อไปโดยปริยาย และจะทำให้องค์กรมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้นไปด้วย

 

วิธีรับมือกับการเมืองในออฟฟิศและเพื่อนร่วมงานขี้นินทาทั้งต่อหน้าและลับหลัง

เชื่อว่าหลายคนที่คิดอยากจะลาออกจากงาน ส่วนใหญ่แล้วเหตุผลหลัก ๆ มักไม่ได้มาจากการทำงาน แต่มาจากเพื่อนร่วมงาน เพราะการทำงานร่วมกันนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องพบเจอกับปัญหาต่าง ๆ ระหว่างผู้ร่วมงานที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ มีแบ็คกราวน์ที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดความต่างทางความคิดและอารมณ์ โดยเฉพาะเรื่องการนินทาและการเมืองระหว่างเพื่อนร่วมงาน ที่ทำให้หลายคนไม่มีความสุขในเวลางาน บางคนมีวิธีรับมือในแบบต่าง ๆ ในขณะที่บางคนใช้วิธีหักดิบโดยการลาออกเพื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม วันนี้เราจะมาดูวิธีรับมือคนขี้นินทาและการเมืองในออฟฟิศ ที่จะทำให้คุณมีความสุขขึ้นในการทำงาน

  1. วางเฉย ไม่ร่วมวงสนทนา

เมื่อรู้ว่าเพื่อนร่วมงานของคุณกำลังนินทาคนในออฟฟิศ ให้คุณรีบลุกหนีและไม่ร่วมวงสนทนาด้วย เพื่อเป็นการแสดงออกว่าไม่ต้องการรับรู้เรื่องนี้ และที่สำคัญการลุกหนีอาจทำให้คุณเป็นเป้าหมายต่อไปในการนินทาของพวกเขาก็ไม่ต้องไปสนใจ เพราะคนขี้นินทาไม่ว่าอย่างไรก็ต้องนินทาอยู่แล้ว จงจำไว้ว่าคนที่นินทาเรานั้นก็เพราะเราไปอยู่ในความสนใจของเขา ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้ดีกว่า หรือเราสวยกว่าเขาจึงหันมาสนใจและพยายามหาข้อบกพร่องของเรา เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น และอย่าลืมว่าคนขี้นินทามักจะก้าวช้ากว่าเราเสมอจึงมีคำว่า “ นินทาลับหลัง ” ดังนั้นจึงควรวางเฉยไม่ต้องไปสนใจและทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด

  1. ถามตัวเองว่าเราทำผิดอะไร?

เมื่อถูกพิษจากการเมืองในออฟฟิศหรือคนขี้นินทา เราควรมองที่ตัวเองก่อนว่าเราทำผิดอะไร? เช่น มาทำงานสายหรือไม่ ส่งงานตรงเวลาหรือเปล่า หรือมีเรื่องชู้สาวกับใครหรือเปล่า เมื่อทบทวนตัวเองอย่างนี้แล้วพบว่าผิดจริงก็ควรทำการแก้ไขปรับปรุงตัวเองเสียใหม่ นำคำนินทาเหล่านั้นมาพัฒนาตนเองและคิดเสียว่าเป็นการติเพื่อก่อ แต่ถ้าเราสำรวจตัวเองแล้วยังไม่พบข้อบกพร่องใด ๆ จากการทำงานก็ควรปล่อยผ่านและทำงานตัวเองต่อไป เพราะบางครั้งการนินทาก็เป็นแค่เรื่องที่พูดขึ้นเพื่อความสนุกของชาวออฟฟิศขี้นินทาเท่านั้นเอง

  1. เอาเวลาคิดมากไปพัฒนาตัวเอง

ปัญหาความเครียดในที่ทำงาน ส่วนมากจากพิษของการเมืองในออฟฟิศนั้นมาจากการนำคำพูดของเพื่อนร่วมงานมาคิดวกไปวนมา จนเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิตที่ส่งผลหลายด้าน ๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งตัวเอง ดังนั้นจึงไม่ควรเสียเวลาไปกับการคิดทบทวนซ้ำ ๆ โดยนำเวลาว่างจากการทำงานไปใช้ในการพัฒนาตัวเองในด้านอื่น ๆ หรือหาช่องทางหาเงินใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มรายได้และความภาคภูมิใจในตัวเอง

วิธีการรับมือกับเพื่อนร่วมงานขี้นินทาและการเมืองในออฟฟิศก็คือการวางเฉยและไม่ต้องสนใจ พยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด นอกจากนี้ควรนำเวลาว่างไปพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีความรู้หรือรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะดีกว่า และปล่อยให้คนนินทาลับหลังอยู่แต่ข้างหลังในขณะที่เราเดินนำไปไกลแล้วก็น่าจะเป็นการดีที่สุด

 

ทำไมปัจจุบัน หลาย ๆ คน อยากมีอาชีพอิสระ เป็นฟรีแลนซ์

มนุษย์เงินเดือนหลายคนอยากมีอาชีพอิสระ แสวงหาช่องทางเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือที่เราเรียกกันว่า “ฟรีแลนซ์” เพราะความเหนื่อยหน่ายกับกฎเกณฑ์จนไม่อยากทำงานประจำอีกต่อไป แถมเหล่าฟรีแลนซ์สามารถเลือกเวลาทำงานและวันหยุดได้ ไม่ต้องการอยู่ใต้บังคับบัญชาของใคร ไม่ต้องมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านาย อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ทั้งทางด้านการเงินและสังคม สามารถรับงานได้หลายงานถ้าสามารถทำไหว และถ้ามีชื่อเสียงจะทำให้รายได้ดีกว่าการทำงานประจำด้วยซ้ำ ทำให้สามารถขยายธุรกิจได้ไกลออกไปมากขึ้น จนบางคนก็ตั้งเป็นบริษัทของตัวเองขึ้นมาในที่สุด รวมทั้งบางคนก็อยากทำอาชีพฟรีแลนซ์ที่เป็นงานตามความฝันของตนเองด้วยเช่นกัน

ข้อเสียของการเป็นฟรีแลนด์

การเป็นฟรีแลนซ์ มีข้อเสียคือ งานไม่แน่นนอน บางครั้งมี บางครั้งไม่มี และบางอาชีพก็ขึ้นอยู่กับ

เทศกาลด้วย ซึ่งมีผลทำให้มีรายได้ไม่แน่นอนตามมา  ต้องรับผิดชอบด้วยตนเองทุกย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจ การแก้ไขงาน การลงทุน และอาจถูกโกงจากคนจ้างได้ง่าย และยังไม่ได้รับผลประโยชน์  หรือสวัสดิการอื่นๆ เหมือนกับการทำงานประจำ เป็นลูกจ้างในบริษัท หรือองค์กรต่างๆ เช่น โบนัส ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การมีสังคมในที่ทำงาน การได้รับการอบรมพัฒนาอาชีพ

ขาดประสบการณ์จากการทำงานโดยที่ตนเองไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ใช้เพียงความสามารถ แรงงาน

และสติปัญญาของตนเองเท่านั้น

แล้วต้องพิจารณาอย่างไรว่าควรทำอาชีพฟรีแลนซ์ หรือไม่     

ถ้าทำงานประจำอยู่แล้ว อยากลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ก็ต้องศึกษาข้อมูล โดยพิจารณาจาก

ข้อดี ข้อเสียของการเป็นฟรีแลนซ์ให้ดีก่อน เพราะอาชีพฟรีแลนซ์ ก็เหมือนกับทุกอาชีพ ที่มีทั้งที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จ และทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง เช่น  ประเภทธุรกิจ ความสามารถความเป็นมืออาชีพของตนเอง ความต้องการของตลาด ความมีชื่อเสียง

ทำเลแหล่งที่ตั้ง เทคโนโลยี หรือแม้แต่ความโชคดี หรือโชคไม่ดี ฯลฯ

บางคนบอกถ้าลาออกจากงานประจำมาทำฟรีแลนซ์ แล้วไม่ประสบผลสำเร็จก็อาจจะตกงาน

ไม่มีอาชีพ ก็แนะนำว่ายังไม่ต้องลาออกจากงาน แต่ให้ลองทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปกับงานประจำก่อน โดยให้รับทำงานฟรีแลนซ์ในช่วงวันหยุด หรือช่วงที่มีเวลาว่างสักระยะหนึ่ง ก็จะเห็นว่าผลลัพธ์มันเป็นอย่างไร เช่น ถ้าทำแล้วเห็นลู่ทางมันไปได้ดีกว่างานประจำแน่นอน ก็ค่อยลาออกจากกงานประจำมาทำฟรีแลนซ์เต็มตัว แต่ถ้าทำแล้วเห็นปัญหา อุปสรรค แก้ไขแล้วก็ยังไม่ได้ ทำต่อไปเจ๊งแน่นอน มีแต่ขาดทุน เข้าตัว เสียเวลา ก็เลิกทำฟรีแลนซ์ โดยที่เราจะไม่ตกงานเพราะยังมีงานประจำรองรับอยู่

 

 

ลาออก กับถูกเลิกจ้างได้เงินทดแทนกรณีว่างานจากประกันสังคมต่างกันอย่างไร

มนุษย์เงินเดือนหรือคนที่เป็นลูกจ้างบางคน เมื่อทำงานมาสักระยะหนึ่ง อาจมีเหตุให้ต้องออกจากงานจากองค์กร

ที่เคยทำงานก่อนกำหนด หรือก่อนถึงวัยเกษียณด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป ซึ่งพอจะแยกได้ดังนี้

เหตุผลการออกจากงานมี 2 ประการคือ

1.ลาออกเอง  เกิดจากความต้องการของลูกจ้างอย่างสมัครใจ โดยอาจมีเหตุมาจากความจำเป็นหรือเหตุผลส่วนตัวบางประการ เช่น ต้องการย้ายที่ทำงาน ต้องการไปประกอบธุรกิจส่วนตัว  มีปัญหากับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กร ฯลฯ

  1. ถูกเลิกจ้าง เกิดจากความต้องการของนายจ้าง ที่ต้องการลดจำนวนลูกจ้าง เนื่องจากขาดทุนหรือมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทน

ซึ่งแน่นนอนการออกจากงานไม่ว่าจะเป็นการลาออกเองหรือการถูกเลิกจ้าง ถ้าลูกจ้างไม่ได้ทำงานต่อทันทีก็จะว่างงาน ทำให้ขาดรายได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว แต่ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคมนอกเหนือจากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง กรณีถูกเลิกจ้าง

เงื่อนไขการมีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคม 

ต้องส่งเงินประกันสังคมมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน และต้องไม่มีความผิดจากการถูกเลิกจ้าง เช่น การทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย โดยการลาออกและถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานดังนี้

กรณีลาออก จะได้รับเงินทดแทนฯ ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง/เงินเดือน ปีละไม่เกิน 3 เดือน

กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนฯ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง/เงินเดือน ปีละไม่เกิน 6 เดือน

โดยอัตราค่าจ้าง/เงินเดือน ที่สำนักงานประกันสังคมนำมาคิดคำนวณในการจ่ายค่ากรณีว่างงานให้กับผู้ที่ใช้สิทธิ ก็คือค่าจ้างจริงของแต่ละคนที่นำส่งประกันสังคมแต่สูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และถ้าภายใน 1 ปี มีการขอรับเงินทดแทนฯ ทั้ง 2 กรณี คือทั้งกรณีลาออกและถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนฯ ทั้ง 2 กรณี รวมกันไม่เกิน 6 เดือน และถ้าว่างงานไม่ถึง  3 เดือน กรณีลาออก หรือไม่ถึง 6 เดือน กรณีถูกเลิกจ้างก็จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานตามระยะเวลาจริงที่ว่างงาน

ดังนั้นเมื่อว่างงานไม่ว่าจากการลาออกหรือถูกเลิกจ้างก็แล้วแต่ ถ้าเรามีสิทธิเบิกเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคม ก็ควรรีบดำเนินการไปขึ้นทะเบียนว่างงานเพื่อขอเบิกเงินดังกล่าวภายใน 30 วัน นับจากวันที่ลาออก ตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดเพื่อจะได้มีเงินหรือรายได้เข้ามาทดแทนในช่วงที่รายได้ขาดหายไป โดยสามารถขึ้นทะเบียนว่างงานได้ที่ สำนักงานจัดหางาน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือทางออนไลน์ https://empui.doe.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ โทร.1506

 

 

ไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ กับชีวิตติด Co-Working Space เข้างานเมื่อตื่น เลิกงานเมื่อไหร่ก็ได้

เมื่อความสะดวกสบายเขยิบเข้ามาใกล้กับชีวิตเราในทุกด้าน เพียงแค่หยิบมือถือหรือโน๊ตบุ๊คขึ้นมาทำงานที่ได้รับมอบหมาย การเข้างานแปดโมงเลิกงานห้าโมงเย็น ก็แทบจะเป็นวิถีชีวิตแบบเก่าที่ไม่มีใครทำไปซะแล้ว คนรุ่นใหม่ต้องการอะไรที่ตอบโจทย์ความสบายมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการฉีกกฎของเวลาการเข้างาน นั่นจึงทำให้เกิด Co-working space ขึ้นเป็นดอกเห็ดในสังคมเมืองหลวงของประเทศไทย จากข้อมูลของภาควิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ให้ข้อมูลไว้ว่าในปี 2558 จำนวนธุรกิจ Co-Working Space เฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีมากกว่า 40 แห่ง และในปัจจุบันก็น่าจะมีมากกว่าร้อยแห่งแล้ว นี่เป็นจำนวนที่บ่งบอกว่า ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะมีอิสระในการทำงาน ที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ที่เป็นออฟฟิศหลักมากขึ้นเรื่อย ๆ

ศูนย์รวมของคนที่ใช่ แหล่งค้นพบมิตรภาพใหม่ ๆ

เมื่อสถานที่อย่าง Co-Working space ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์เรื่องของสถานที่ทำงานนอกออฟฟิศ แต่อาจสร้างโอกาสในการพบเจอกับเพื่อนใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เดียวกัน หรือทำธุรกิจที่เสริมกันได้ ก็อาจเป็นประโยชน์อีกด้าน ที่ทำให้ลูกค้าชื่นชอบการเข้ามานั่งทำงานในพื้นที่ทำงานร่วมกันนี้ เพราะลักษณะของกลุ่มผู้ใช้บริการ Co-Working space คือกลุ่มคนที่สามารถบริหารจัดการเวลาของตัวเองได้ ไม่โดนบังคับการเข้างาน หรือมีความยืดหยุ่นในการทำงานนั่นเอง ซึ่งโดยส่วนมากจึงเป็นกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอิสระ อย่าง Startup หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจและมีความริเริ่มที่จะลงมือสร้างกิจการของตนเอง กลุ่มคนประเภทนี้มักจะใช้เวลาอยู่ที่ Co-Working space นานมาก เพราะต้องการพื้นที่ในการระดมความคิด นัดเจอกลุ่มเพื่อนที่ประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หรือนัดพบที่ปรึกษาของตน เพื่อพัฒนาไอเดียทางด้านธุรกิจกันอย่างเข้มข้น หรืออย่าง กลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์ ก็มักมาเป็นลูกค้าประจำ เพราะนอกจากพื้นที่ในการทำงานที่มีให้แล้ว Co-Working space บางแห่ง ก็มีบริการที่ครบถ้วน คือ มีตั้งแต่ อาหารเช้า ไปจนถึง อาหารค่ำ น้ำ นม ขนม มีพร้อม เรียกได้ว่าอยู่ด้วยกันไปได้ยาว ๆ จนกว่างานจะเสร็จได้เลย

รูปแบบและแนวทางของธุรกิจ Co-Working space จึงเรียกได้ว่าก่อตั้งมาตอบรับกระแสและอาชีพของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขยายตัวของธุรกิจนี้ ก็ทำให้เกิดการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจขึ้นมากเช่นกัน ทำให้แต่ละแห่งต้องมีการลงทุนในการตกแต่งสถานที่เพื่อดึงดูดลูกค้า หรือจัดโปรโมชั่นลดราคากันมากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักความอิสระในการทำงานนั่นเอง