จากการเสพสื่อในสังคมยุคดิจิทัลที่มีข่าวสารมากมายที่เข้าถึงได้ง่าย และเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว อาจนำพามาซึ่งความเครียด อารมณ์หงุดหงิด และความว้าวุ่นใจมาสู่ชีวิตของคุณ ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้อย่างไม่รู้ตัว จากสถิติที่มีการได้ทำการบันทึกไว้ คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 57 ล้านคน หรือประมาณ 82% ของประชากร ที่สำรวจโดย We are social และ Hootsuite ในปี 2018 แถมมาด้วยแชมป์โลกด้านการใช้เวลาท่องอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เฉลี่ย 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน ก็ไม่น่าแปลกใจที่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) ได้มีการจำแนกความเครียดในคนไทยในด้านต่าง ๆ ถึง 10 ด้านด้วยกัน คือ ด้านเศรษฐกิจและการเงิน ด้านครอบครัว ด้านเพื่อน ด้านความรัก ด้านการงาน ด้านสุขภาพ ด้านการเรียน ด้านการเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านที่เกี่ยวกับตนเอง ซึ่งมีวิธีแก้ไขความเครียดโดยการพยายามหากิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด หรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบต่าง ๆ โดยแท้จริงแล้วเคล็ดลับง่าย ๆ ที่นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้คำแนะนำไว้ก็คือ การทำสมาธิให้จิตใจผ่องใส เพียงวันละ 10 – 30 นาที ก็สามารถเป็นวิธีลดความเครียดที่ได้ผลดีมาก
การฝึกทำสมาธิ ไม่เพียงแต่เฉพาะคนไทยที่รู้จัก แต่ยังเป็นวิธีการพื้นฐานของคนทั่วโลก และเริ่มเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง นั่นคือการทำจิตใจให้สงบ พักสมองให้หยุดคิดเรื่องที่กังวลอยู่ และจดจ่ออยู่กับการหายใจเข้าออกอย่างเป็นระบบ การฝึกทำสมาธินี้มีผลงานวิจัยมากมาย ที่ค้นพบว่าสามารถช่วยรักษาโรคต่าง ๆได้ เช่น โรคหอบหืด และโรคไมเกรน และยังช่วยลดอาการซึมเศร้าอีกด้วย รวมถึงช่วยให้การทำงานของระบบการเผาผลาญอาหาร และระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายดีขึ้น
เสพสื่ออย่างมีเหตุและผล มีสมาธิและสติ เลือกรับข่าวสารที่ดีมากขึ้น
ข่าวสารที่ได้รับตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ไม่ควรที่จะเชื่อถือในทันทีทันใด เพราะยุคดิจิทัลนี้ ใคร ๆ ก็เขียนข่าวได้ การฝึกทำสมาธิจะช่วยให้เกิดสติ ดังที่กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นประเด็นเรื่อง “สติ วิถีแห่งสุขภาพดี” เพราะคนไทยมีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ดังนั้นการทำสมาธิและเสพสื่ออย่างมีสติจะช่วยบรรเทาอาการเครียดและวิตกกังวลที่จะนำสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ ข้อแนะนำในการเสพสื่อออนไลน์มีอยู่มากมาย เช่น การอย่าเพิ่งด่วนสรุปข่าวนั้น อย่าเพิ่งใส่อารมณ์ความรู้สึกของตนเองมากเกินไปหลังจากที่ได้อ่าน และไม่ควรเสพสื่อตลอดเวลา ควรมีการกำหนดเวลาในการเสพสื่อต่าง ๆ และใช้เวลากับธรรมชาติหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบให้มากขึ้น และพยายามแชร์ข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้จริง ๆ