แบบเรียน 3 ร. พร้อมรับมือ..คนไม่เป็น กับ คนไม่ทำ…

เชื่อได้ว่าในทุก ๆ องค์กร จะต้องประกอบไปด้วยคนหลากหลายประเภท มีทั้งคนเก่ง คนขยัน คนขี้เกียจ

คนขี้นินทา หรือแม้กระทั่งคนประจบประแจง เพราะต่างคนก็ต่างที่มา ต่างคนก็ต่างความคิด ขึ้นอยู่กับว่า ใคร

เลือกที่จะแสดงออกให้คนอื่นเห็นตัวตนในรูปแบบไหน บางคนก็เลือกที่จะแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

บางคนก็เลือกที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกมา ทำให้ในองค์กร มักจะเกิด..คนทำงาน.. 2 ประเภทหลัก คือ

…คนทำงานไม่เป็น กับ คนไม่ทำงาน…

คนทำงานไม่เป็น คือ คนที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อนเลย หรือเป็นคนทำงานอยู่แล้ว แต่ไม่มีความรู้ ความสามารถ หรือความถนัด ในการทำงานด้านอื่น ที่ตนยังไม่เคยทำ คนเหล่านี้มักจะมีความสามารถในการพัฒนา

ตัวเองให้กลายเป็นคนทำงานเป็น และทำงานเก่งได้ในอนาคต

คนไม่ทำงาน คือ คนที่อาจจะทำงานเป็นอยู่แล้ว แต่ไม่อยากทำ หรือคนที่ทำงานไม่เป็น และไม่มีความพยายามที่จะทำ คนเหล่านี้ต่อให้ได้รับการฝึกฝนมากแค่ไหน เขาก็จะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ นอกเสียแต่ว่า เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

และหากวันหนึ่งเกิดมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับคนเหล่านี้แล้ว คงต้องอาศัยวิธีการรับมือแบบ 3 ร…

1. รักกันจริงต้องสอนกันได้

จริงอยู่ว่าไม่มีใครเกิดมาเก่ง หรือทำอะไรเป็นได้หมดทุกอย่าง แต่ทุกคนคงเคยได้ยินสุภาษิตไทยที่ว่า

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น” หากคนที่ทำงานไม่เป็น แต่มีความพยายามในการเรียนรู้ มีความพยายามในการฝึกฝน งานนั้นก็คงไม่ยากเกินความสามารถ คนที่ทำเป็นแล้ว ก็จะต้องปรับเปลี่ยนสถานะตัวเองมาเป็นครู

คอยสอน คอยบอก คอยแนะนำ เพื่อให้เขาสามารถทำงานนั้นได้ด้วยตนเอง และสำหรับคนไม่ทำ ก็ต้องลองเปิดใจ ที่จะเรียนรู้ เพราะหากไม่พร้อมเปิด ก็จะไม่สามารถรับอะไรได้เลย เพราะการเปิดใจ คือ จุดเริ่มต้นที่ยากที่สุด

2. รับรู้ในการกระทำ

ตราบใดที่องค์กรยังมีคนประเภทเหล่านี้ หัวหน้า จึงกลายเป็นบุคคลอันมีหน้าที่รับรู้พฤติกรรมการทำงานของลูกน้องมากที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว การทำงานคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

คนทำงานไม่เป็น ก็จะยังคงทำไม่เป็นต่อไป งานที่ได้รับมอบหมายก็เกิดความล่าช้า เกิดความผิดพลาด

คนไม่ทำงาน ก็จะโยนงานให้คนที่ทำเป็นรับผิดชอบ คนทำเป็นก็ต้องทนทำอยู่ทุกครั้ง ค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับเพิ่ม แต่ความรับผิดชอบกลับเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดอาการบั่นทอนจิตใจและนำไปสู่การลาออกในที่สุด

เพราะฉะนั้น ผู้เป็นหัวหน้า คือ กุญแจหลักในการปลดล็อคพฤติกรรมดังกล่าว แต่หากหัวหน้าปิดหูปิดตา มองพฤติกรรมลูกน้องไม่ออก ผู้เป็นลูกน้องจึงต้องมีหน้าที่ในการปลดล็อคพฤติกรรมให้กับหัวหน้าแทน

3. ร้ายกลายเป็นดี

การรับมือวิธีสุดท้าย ถ้าในเมื่อเขาไม่ยอมเปิดใจรับในสิ่งที่ตั้งใจจะสอน แถมหัวหน้าก็ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้อีก ทางออกสุดท้ายก็คงต้องบอกว่าให้ “ทำใจ ยอมรับ” หากอยู่ในสถานะของคนที่ทำงานเป็นแล้ว เมื่อใดที่จะต้องทำงานของคนอื่นเพิ่ม ขอให้คิดไว้เสมอว่า การทำงานในครั้งนั้น คือ การพัฒนาศักยภาพของตัวเอง จงถือโอกาสนี้เป็นการฝึกปรือฝีมือไปในตัว พยายามมองเรื่องแย่ ๆ ในครั้งนี้ ให้กลายเป็นเรื่องดี ๆ เรื่องหนึ่งในชีวิต และการทำงานจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น

เชื่อได้ว่าในทุกองค์กร จะต้องมีคนทั้ง 2 ประเภทข้างต้นอยู่ทุกที่ อยู่ที่ว่าจะต้องรับมือหรือหาทางออกเมื่อเผชิญกับคนประเภทนี้อย่างไร หากสามารถยอมรับหรือหาทางแก้ไขได้ จะทำให้สังคมการทำงานกลายเป็นสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อไปโดยปริยาย และจะทำให้องค์กรมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้นไปด้วย