พุทธศาสนาหรือธุรกิจ ความเชื่อหรือแค่เรื่องงมงาย

โดยปกติแล้วนิสัยคนไทยส่วนใหญ่ เวลาที่ชีวิตประสบกับปัญหาหรือมีสิ่งที่มารบกวนก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นภายในจิตใจ มักจะหาทางออกด้วยวิธีการเข้าวัด ทำบุญทำทาน และจบลงด้วยการพนมมือไหว้ขอพรพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัดจึงกลายเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยิ่งถ้าเป็นคนที่กำลังมีความทุกข์อยู่ด้วยแล้ว วัดก็แทบจะกลายเป็นสถานที่เดียวที่สามารถตอบโจทย์ได้มากที่สุด เพราะคนไทยต่างก็มีความเชื่อว่าหากเข้าวัดจะทำให้จิตใจสงบสามารถหาทางออกให้กับปัญหาได้ และการได้ไหว้ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยด้วยแล้วละก็ จะยิ่งทำให้ความทุกข์นั้นลดลงหรือหายไปในที่สุด โดยที่ไม่รู้เลยว่า แท้จริงแล้วการที่ความทุกข์นั้นหายไปเป็นเพราะเขาสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยตัวเอง หรือเป็นพระสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือกันแน่

จะเห็นได้ว่าหากคนไทยให้ความสำคัญกับการเข้าวัดมากเท่าไร วัดก็จะพัฒนามากขึ้นเท่านั้น สังเกตได้จากในปัจจุบันมีวัดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทุก ๆ วัด ก็จะพยายามหาวิธีการหรือสิ่งดึงดูดให้คนเข้ามาร่วมทำบุญมากยิ่งขึ้น แต่การทำบุญในสมัยนี้ไม่ใช่การถือปิ่นโตใส่กับข้าวเพื่อให้พระได้ฉันเพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน แต่ยังต้องมีเรื่องของการถวายจตุปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยใช้วิธีการสื่อสารภายใต้คำว่า “บริจาคตามกำลังศรัทธา” ประกอบกับนิสัยคนไทยมีความเชื่อและศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นทุนเดิมของชีวิตอยู่แล้ว จึงพร้อมที่จะทุ่มเทให้กับคำว่าบริจาคได้อย่างเต็มที่ และมักจะก่อให้เกิดความเข้าใจแบบผิด ๆ ที่ว่า ยิ่งบริจาคมากยิ่งได้บุญมาก

ปัจจุบันจึงมีวัดไม่น้อยที่พยายามทำให้สถานที่และบรรยากาศภายในวัด เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจให้คนอยากเข้ามาร่วมบริจาคมากยิ่งขึ้น วัดไหนสวย วัดไหนดัง วัดไหนใหญ่ ผู้คนจำนวนมากก็เกิดความต้องการที่จะเดินทางไปเยี่ยมชม  เมื่อผู้คนเดินทางไปมากก็ยิ่งทำให้วัดได้รับบริจาคปัจจัยที่เพิ่มมากขึ้น จึงเกิดคำถามว่า

ปัจจัยที่ได้รับนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใด และเหมาะสมกับความจำเป็นหรือไม่ คำตอบคือ นำไปใช้ในการพัฒนาวัดให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น เช่น นำไปสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างที่ประดิษฐานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

และหากถามว่า ผิดหรือที่วัดต้องหาวิธีการเพื่อสร้างรายได้ คำตอบคือ ไม่ผิด เพราะวัดก็คือองค์กรหรือสถาบันหนึ่งที่ต้องดำรงรักษาไว้ จำเป็นต้องมีรายรับที่เป็นตัวเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายเช่นกัน

ฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะมีประเด็นหรือปัญหาอะไร เพราะสิ่งที่ทุกวัดกระทำล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นทั้งสิ้น แต่อยากให้ลองพิจารณาให้ดีอีกทีจะมองเห็นมุมมองในอีกมิติของการหารายได้เข้าวัดที่มากเกินความพอดี จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า สิ่งที่กำลังกระทำอยู่นั้น คือ หลักการพุทธศาสนาหรือธุรกิจพุทธศาสนากันแน่

หากมองย้อนกลับไปสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระองค์มีแค่เพียงร่มเงาจากต้นศรีมหาโพธิ์เท่านั้น ไม่มีโบสถ์ วิหารใด แต่ทำไมพระองค์ถึงทรงบรรลุในหลักธรรมได้อย่างถ่องแท้ ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนลองพิจารณาตัวเองว่า แก่นสารที่แท้จริงของการสร้างบุญกุศลคืออะไร ไม่ผิดถ้าจะมีความเชื่อ ความศรัทธา แต่จงอย่าเอาความเชื่อ หรือความศรัทธา เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินชีวิตที่มากเกินพอดี ไม่เช่นนั้น คุณจะกลายเป็นเครื่องมือของธุรกิจศาสนาแทน