ลาออก กับถูกเลิกจ้างได้เงินทดแทนกรณีว่างานจากประกันสังคมต่างกันอย่างไร

มนุษย์เงินเดือนหรือคนที่เป็นลูกจ้างบางคน เมื่อทำงานมาสักระยะหนึ่ง อาจมีเหตุให้ต้องออกจากงานจากองค์กร

ที่เคยทำงานก่อนกำหนด หรือก่อนถึงวัยเกษียณด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป ซึ่งพอจะแยกได้ดังนี้

เหตุผลการออกจากงานมี 2 ประการคือ

1.ลาออกเอง  เกิดจากความต้องการของลูกจ้างอย่างสมัครใจ โดยอาจมีเหตุมาจากความจำเป็นหรือเหตุผลส่วนตัวบางประการ เช่น ต้องการย้ายที่ทำงาน ต้องการไปประกอบธุรกิจส่วนตัว  มีปัญหากับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กร ฯลฯ

  1. ถูกเลิกจ้าง เกิดจากความต้องการของนายจ้าง ที่ต้องการลดจำนวนลูกจ้าง เนื่องจากขาดทุนหรือมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทน

ซึ่งแน่นนอนการออกจากงานไม่ว่าจะเป็นการลาออกเองหรือการถูกเลิกจ้าง ถ้าลูกจ้างไม่ได้ทำงานต่อทันทีก็จะว่างงาน ทำให้ขาดรายได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว แต่ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคมนอกเหนือจากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง กรณีถูกเลิกจ้าง

เงื่อนไขการมีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคม 

ต้องส่งเงินประกันสังคมมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน และต้องไม่มีความผิดจากการถูกเลิกจ้าง เช่น การทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย โดยการลาออกและถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานดังนี้

กรณีลาออก จะได้รับเงินทดแทนฯ ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง/เงินเดือน ปีละไม่เกิน 3 เดือน

กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนฯ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง/เงินเดือน ปีละไม่เกิน 6 เดือน

โดยอัตราค่าจ้าง/เงินเดือน ที่สำนักงานประกันสังคมนำมาคิดคำนวณในการจ่ายค่ากรณีว่างงานให้กับผู้ที่ใช้สิทธิ ก็คือค่าจ้างจริงของแต่ละคนที่นำส่งประกันสังคมแต่สูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และถ้าภายใน 1 ปี มีการขอรับเงินทดแทนฯ ทั้ง 2 กรณี คือทั้งกรณีลาออกและถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนฯ ทั้ง 2 กรณี รวมกันไม่เกิน 6 เดือน และถ้าว่างงานไม่ถึง  3 เดือน กรณีลาออก หรือไม่ถึง 6 เดือน กรณีถูกเลิกจ้างก็จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานตามระยะเวลาจริงที่ว่างงาน

ดังนั้นเมื่อว่างงานไม่ว่าจากการลาออกหรือถูกเลิกจ้างก็แล้วแต่ ถ้าเรามีสิทธิเบิกเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคม ก็ควรรีบดำเนินการไปขึ้นทะเบียนว่างงานเพื่อขอเบิกเงินดังกล่าวภายใน 30 วัน นับจากวันที่ลาออก ตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดเพื่อจะได้มีเงินหรือรายได้เข้ามาทดแทนในช่วงที่รายได้ขาดหายไป โดยสามารถขึ้นทะเบียนว่างงานได้ที่ สำนักงานจัดหางาน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือทางออนไลน์ https://empui.doe.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ โทร.1506