อารมณ์…ตัวสร้างหรือบ่อนทำลายสถาบันครอบครัว

ครอบครัว..คำ ๆ นี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก ทุกคนที่เกิดมาต้องรู้จักเป็นอย่างดี ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะให้คำนิยามไว้ว่าอย่างไร สังคมไทยมักสอนอยู่เสมอว่า สิ่งสำคัญมากที่สุดในชีวิต คือ คนในครอบครัว เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามหรือละเลย สถาบันครอบครัวจึงถือเป็นพื้นฐานแรกในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน แต่ยังคงมีอีกหลายชีวิตที่ต้องมีสภาพของครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ หรือแบบที่เรียกว่า บ้านแตกสาแหรกขาด

ปัจจุบันปัญหาครอบครัวที่พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปทาง เกิดขึ้นในสังคมอยู่ทุกวันอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้าลูกกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยแล้วนั้น โอกาสที่ครอบครัวจะแตกแยกก็มีสิทธิ์เกิดขึ้นมาก แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าลูกเป็นวัยรุ่นหรือไม่ แท้จริงแล้วตัวการสำคัญของการเกิดปัญหา คือ อารมณ์หรือความรู้สึกของคนในครอบครัว เสียมากกว่า

ลองคิดดูว่าการที่บ้านแตกเกิดจากอะไร คำตอบคือ คนในครอบครัวไม่เข้าใจกัน ทะเลาะกัน ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ และอะไรคือสาเหตุของการทะเลาะกัน คำตอบคือ การที่ไม่มีใครยอมใคร คิดแต่สิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูก และมองข้ามความคิดของคนอื่น พอเมื่อได้ทะเลาะกันแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันถูกกักเก็บไว้ในจิตใจจะพรั่งพรูออกมาจากปากอย่างไม่มีวันหมด และคำพูดที่ออกมาจะกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้รับฟังเกิดความรู้สึก และแสดงออกมาในรูปแบบของอารมณ์ที่รู้สึกในขณะนั้น แต่ขึ้นชื่อว่าทะเลาะ คงไม่มีคำพูดที่ทำให้คนฟังรู้สึกดีเป็นแน่และยิ่งถ้าผู้พูดหรือผู้ฟังเป็นคนที่ยังไม่สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ หรือควบคุมอารมณ์และความรู้สึกตัวเองได้ด้วยนั้น ปัญหาบ้านแตกก็คงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

เช่นนั้นแล้ว ในฐานะของคนเป็นพ่อ เป็นแม่ หรือเป็นลูก ควรมีวิธีการตั้งรับเมื่อกำลังรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาวะของอารมณ์ที่คุกรุ่น เพื่อป้องกันไม่ให้แสดงตัวตนออกมาในรูปแบบที่ไม่ควรจะเป็นได้ด้วยวิธีการดังนี้

1. อารมณ์ไม่ดี ไม่คุย

ถ้าเมื่อใดที่รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ให้แยกตัวออกมาจากคนรอบข้างทันที เพราะหากยังคงฝืนทนอยู่ต่อไป นั้นจะเป็นช่องโหว่ของการแสดงตัวตนในด้านมืดออกมา จงออกไปสงบจิตสงบใจ หาวิธีการผ่อนคลาย ทบทวนตัวเอง ทบทวนปัญหา หาทางออกและค่อยกลับมาแก้ไขต่อไป

2. เหตุผลสำคัญกว่า

การพูดคุยกันด้วยเหตุผล ย่อมหาทางออกได้ง่ายกว่าการใช้อารมณ์อย่างแน่นอน เพราะการที่คนเราจะตัดสินใจทำอะไรลงไปสักอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าเขาต้องมีเหตุผลแล้วภายในใจ หากลูกทำผิด คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ลองเปิดใจรับฟังเขาสักนิด ให้เขาได้อธิบาย ให้เขาได้แสดงความคิดเห็น หากเขาผิดก็ว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนกันไปตามที่เห็นควร หลีกเลี่ยงการดุด่าทุบตี หรือการใช้ความรุนแรง เพราะเขาคือลูก เขาคือคน ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง ส่วนคนเป็นลูก เมื่อรู้ว่าตัวเองทำผิดก็ต้องยอมรับในผลการกระทำของตัวเอง และจดจำไว้เป็นบทเรียนเพื่อไม่กระทำผิดซ้ำอีกในอนาคต

3. Social ทำพิษ

หากอยู่ในภาวะของอารมณ์ที่ไม่สู้ดีนัก สิ่งที่ไม่ควรกระทำคือ การระบายความรู้สึกลงบนโลกโซเชียล เพราะโลกโซเชียลจะเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้สึกนั้นอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้อีก จริงอยู่ว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโพสต์ หรือจะแชร์ อะไรก็ได้ แต่หากกระทำด้วยอารมณ์ นอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแล้วอาจเป็นการเพิ่มปัญหาอีกด้วย

ดังนั้น จงอย่าปล่อยให้อารมณ์ครอบงำความเป็นตัวตน บางคนไม่ใช่คนที่มีจิตใจเลวร้ายอะไร แต่มักกระทำสิ่งที่รุนแรงลงไปแบบไม่รู้ตัว เพราะสาเหตุมาจากอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นตัวนำพาทั้งสิ้น และสิ่งที่จะช่วยระงับเพลิงไฟในจิตใจก็คงต้องใช้ สติ เป็นตัวช่วย หากมีสติ ก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ หากควบคุมอารมณ์ได้ ความรุนแรงก็จะไม่เกิด และเมื่อความรุนแรงไม่เกิด ก็จะนำมาซึ่งความสุขทั้งของตัวเองและคนในครอบครัว